RCEP’ คลอดฝ่ายเลขาฯ ความตกลง เริ่มลุยงาน มิ.ย.นี้ ขับเคลื่อนการดำเนินงาน-เตรียมเปิดรับสมาชิกใหม่

‘RCEP’ ได้ข้อสรุปจัดตั้งฝ่ายเลขาฯ ความตกลงแล้ว เริ่ม! ปฏิบัติงาน มิ.ย.นี้ เดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินการตามความตกลงของประเทศสมาชิก พร้อมเร่งหารือหลักเกณฑ์รับสมาชิกใหม่ ตามคำสั่งรัฐมนตรี RCEP ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรองนายกฯ และ รมว.พณ. ที่มุ่งผลักดันให้ใช้ประโยชน์จาก FTA พร้อมให้ฝ่ายเลขาฯ ความตกลง เตรียมงานเปิดรับสมาชิกใหม่ให้สำเร็จ เพื่อช่วยขยายตลาดและการเชื่อมโยงของห่วงโซ่มูลค่าให้กว้างขึ้น

นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมความตกลง RCEP ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 26-27 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมหารือกับสมาชิก RCEP 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ พิจารณาได้ข้อสรุปการจัดตั้งฝ่ายเลขาฯ ความตกลง RCEP ทำหน้าที่ประสานการดำเนินการตามความตกลงฯ สำหรับประเทศสมาชิกในประเด็นหลักเกณฑ์และกระบวนการคัดเลือกบุคลากร และการจัดสรรค่าใช้จ่ายอุดหนุนการปฏิบัติงาน ซึ่งจะประกาศเปิดรับสมัครผู้ทรงคุณวุฒิที่ถือสัญชาติประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นผู้อำนวยการบริหารและเจ้าหน้าที่ ผ่านเว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการอาเซียนเร็วๆ นี้ โดยพร้อมปฏิบัติงานในเดือนมิถุนายน 2567

นายธัชชญาน์พล กล่าวว่า การเปิดรับสมาชิกใหม่ของ RCEP ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะช่วยขยายตลาดและการเชื่อมโยงของห่วงโซ่มูลค่าให้กว้างขึ้น โดยที่ประชุมได้หารือหลักเกณฑ์และกระบวนการพิจารณาประเทศผู้สมัครใหม่ รวมทั้งกระบวนการและขั้นตอนการรับเข้าร่วมเป็นสมาชิก เพื่อให้มีความโปร่งใสและเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ ตามคำสั่งรัฐมนตรี RCEP ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่มุ่งผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จาก FTA ทั้งนี้ ฝ่ายเลขาฯ ความตกลง RCEP จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามความตกลง และการเตรียมงานเปิดรับสมาชิกใหม่ให้บรรลุผลสำเร็จเช่นเดียวกับอาเซียนที่มีสำนักเลขาธิการอาเซียนเป็นฝ่ายเลขาฯ

ทั้งนี้ ในปี 2566 การค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่า 3.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 1.45 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 51.0% ของมูลค่าการค้าไทยไปตลาดโลก และไทยนำเข้าจากประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 1.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 57.7% ของการนำเข้าของไทยจากตลาดโลก ส่วนตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน ครองสัดส่วนการส่งออก 23.52% และญี่ปุ่น ครองสัดส่วนการส่งออก 16.98% ขณะที่ไทยส่งออกไปออสเตรเลีย ขยายตัว 7.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า