สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 19 ก.ค. 64

  • บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น สำหรับภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนตกหนักบางแห่ง
  • แม่น้ำสายหลัก ภาคกลาง ภาคตะวันออก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภาคใต้ มีน้ำน้อยถึงปกติ แนวโน้มลดลง ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแม่น้ำโขง มีน้ำน้อยถึงปกติ แนวโน้มทรงตัว
  • ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 36,073 ล้าน ลบ.ม. (44%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 31,627 ล้าน ลบ.ม. (44%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 8 แห่ง เฝ้าระวังน้ำมาก จำนวน 2 แห่ง (อ่างฯน้ำพุง อ่างฯจุฬาภรณ์)
  • กอนช. ติดตามฝนคาดการณ์ระบบ ONEMAP พบว่าในเดือนก.ย.- ต.ค.64 จะมีฝนตกชุกและปริมาณฝนตกมากกว่าค่าปกติ สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบันและการคาดการณ์ ดังนี้
  • แหล่งน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ณ วันที่ 18 ก.ค. 64 มีปริมาณน้ำ 31,627 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 มากกว่าปีที่ผ่านมา 1,306 ล้าน ลบ.ม. ส่วน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำ 7,535 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 30 มากกว่าปีที่ผ่านมา 99 ล้าน ลบ.ม. สำหรับปริมาตรน้ำใช้การ 839 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 5 ของความจุน้ำใช้การ
  • แหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำเกินกว่าเกณฑ์ควบคุมในปัจจุบัน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จ.สกลนคร และอ่างฯ จุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ
  • จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างฯ ขนาดใหญ่ โดยใช้ฝนคาดการณ์ระบบ ONEMAP พบว่าในช่วงฤดูฝนนี้ปริมาณน้ำในอ่างฯ ส่วนใหญ่จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือน ก.ย.ต่อเนื่องถึงเดือน พ.ย. โดย อ่างเก็บน้ำที่ปริมาณน้ำมีแนวโน้มมากกว่าร้อยละ 100 ของความจุเก็บกักและมีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ ได้แก่ อ่างฯ จุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ อ่างฯ อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น อ่างฯ ลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา อ่างฯ หนองปลาไหล และอ่างฯ ประแสร์ จ.ระยอง
    ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำและปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่ปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม และมีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ รวมทั้งเร่งเก็บกักน้ำสำหรับเป็นน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้งหน้าต่อไป