สนองพระราชดำริ โครงการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำ 22 แห่ง จังหวัดสกลนคร แก้น้ำท่วมลดแล้งอย่างยั่งยืน
นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมด้วยนายปวัตร์ นวะมะรัตน รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่ติดตามตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนา
แหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร เมื่อวันศุกร์ที่ 19 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา
นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี เปิดเผยในระหว่างเยี่ยมชมความคืบหน้าของโครงการว่า การปรับปรุงอ่างเก็บน้ำจำนวน 22 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น สืบเนื่องมาจากเมื่อปี 2560 พื้นที่จังหวัดสกลนคร ได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “ตาลัส” และพายุโซนร้อน “เซินกา” ทำให้มีน้ำไหลบ่าจากเทือกเขาภูพานลงสู่พื้นที่อ่างเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดสกลนครจำนวนมากและเอ่อล้นข้ามทำนบดินจนเกิดการกัดเซาะสันทำนบดินพังเสียหาย น้ำทะลักเข้าท่วมหลายพื้นที่รวมถึงตัวเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
“เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสำนักงาน กปร. รีบดำเนินการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำ “ห้วยทรายขมิ้น” ที่ประสบปัญหาอุทกภัยชำรุดเสียหายจากพายุโซนร้อนเซินกาให้ใช้การได้โดยเร็ว และเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2560 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมีพระราชกระแสว่า เป็นความเร่งด่วนอย่างสำคัญ น่าจะตรวจระบบ อ่าง, เขื่อน ฯลฯ ในพื้นที่นี้ต่อไป ซึ่งเป็นที่มาของการดำเนินงานในการสำรวจพร้อมปรับปรุงแก้ไขอ่างเก็บกักน้ำจำนวน 22 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร “นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี กล่าว
ดังนั้นเพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงาน กปร. ร่วมกับกรมชลประทาน ดำเนินการสนองพระราชดำริ จัดทำโครงการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำ 22 แห่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร อย่างเร่งด่วน ตั้งแต่ปี 2561 –2562 โดยสำรวจอ่างเก็บน้ำทั้ง 22 แห่ง ให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง มีความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบอ่างเก็บน้ำในด้านความปลอดภัย รวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับในพื้นที่ มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อร่วมบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ สร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
ด้านนายสมพร อารยชาติสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 3 กล่าวระหว่าง นำองคมนตรีและคณะฯ เยี่ยมชมความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็น 1 ใน 22 โครงการฯ ที่พระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริให้มีการดำเนินการ ว่า โครงการนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาดำเนินการตั้งแต่ปี 2535 และเริ่มดำเนินการได้ในปี 2560 โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เปิดโครงการ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำ เน้นการระบายน้ำที่มีการยกระดับน้ำในลำคลองขึ้นเพื่อเก็บกักส่วนหนึ่งไว้ในลำลอง ระหว่างทางระบายน้ำสามารถส่งไปยังพื้นที่สองข้างลำคลองเพื่อการใช้ประโยชน์ของราษฎรทำการเพาะปลูกได้
“โครงการนี้เมื่อแล้วเสร็จ จะช่วยชะลอปริมาณน้ำที่ไหลลงหนองหานช่วงน้ำหลากไม่ให้ท่วมพื้นที่ตัวเมืองจังหวัดสกลนคร สามารถระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบนได้รวดเร็วขึ้น แล้วส่งน้ำส่วนนี้เข้าคลองผันน้ำ เป็นการทำงาน 2 ทาง นอกจากเป็นคลองระบายแล้วยังเป็นคลองส่งน้ำ สามารถนำมาใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเพาะปลูกในฤดูแล้งได้อีกด้วย” นายสมพร อารยชาติสกุล กล่าว
ทั้งนี้ สำนักงาน กปร. ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ในการต่อยอดโครงการโดยนำองค์ความรู้การพัฒนาอาชีพ เพิ่มทักษะฝีมือ ถ่ายทอดแก่ราษฎร พร้อมกับสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ฯลฯ ตามความต้องการของสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ อีกด้วย