สทนช.ผนึกกรมอุตุและสสน. รับมือฤดูฝนปี 2568

กรมอุตุนิยมวิทยา และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ได้มีการคาดการณ์ว่า
ปี 2568 จะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2568 ปริมาณฝนจะเพิ่มมากขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อน 1-2 ลูก พัดเข้ามาในประเทศไทย อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้ในหลายพื้นที่
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ดำเนินงานในเชิงรุกเพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน ปี 2568 โดยก่อนเข้าสู่ฤดูฝน สทนช. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อถอดบทเรียนจากการรับมือฤดูฝน ปี 2567 โดยนำข้อดี ข้อเสีย จุดเด่น จุดด้อย ตลอดจนอุปสรรคและปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการเร่งพร่องน้ำเพื่อรักษาความปลอดภัยเขื่อนในช่วงที่มีปริมาณน้ำหลากในลุ่มน้ำจำนวนมาก ทำให้เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำในลำน้ำท้ายเขื่อน สร้างผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก นำมาปรับปรุงจนได้ 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ที่ครอบคลุมทุกมิติ พร้อมทั้งเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ จนนำมาสู่มาตรการการบริหารจัดการน้ำแบบลุ่มน้ำหรือกลุ่มลุ่มน้ำอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ก่อนผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามลำดับ พร้อมได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินงานตาม 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 อย่างเคร่งครัด

ในปีนี้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ใช้ฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. มาจัดทำเป็นฝนคาดการณ์ล่วงหน้า 6 เดือน (ช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 2568) หรือเรียกว่า “แผนที่คาดการณ์ฝน ONE MAP” เพื่อใช้สำหรับประเมิน วิเคราะห์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ทั้ง 35 แห่ง โดยพบว่า มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 15 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ อ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา อ่างเก็บน้ำลำปาว อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล อ่างเก็บน้ำแม่มอก อ่างเก็บน้ำน้ำอูน อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง และอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน มีแนวโน้มความเสี่ยงสูงที่ปริมาณน้ำจะล้นอ่าง และบางแห่งมีความเสี่ยงที่จะล้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2568 เป็นต้นไป ทั้งนี้ จะมีการปรับปรุงแผนที่คาดการณ์ฝน ONE MAP ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อใช้ประเมินปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกเดือน

ดังนั้นเพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงของอ่างเก็บน้ำทั้ง 15 แห่งดังกล่าว ที่มีโอกาสจะล้นและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดน้ำท่วมบริเวณด้านท้ายของอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งเหมือนในอดีตที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ภายใต้ กนช. ได้มีมติให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลอ่างเก็บน้ำทั้ง 15 แห่ง ให้ดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ในมาตรการที่ 2 คือ ทบทวน ปรับปรุง เกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำอย่างบูรณาการ ในระบบลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ โดยปรับแผนการระบายน้ำให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2568 ประมาณ 80% ของความจุเก็บกัก ด้วยการระบายน้ำในช่วงต้นฤดูฝนให้มากขึ้น เพื่อสำรองพื้นที่รองรับฝนตกหนักเนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ร่องความกดอากาศต่ำที่พาดผ่านประเทศไทยและพายุหมุนเขตร้อนในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2568 โดยการเร่งระบายน้ำจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนด้ายท้ายน้ำ
การบริหารจัดการน้ำเช่นนี้ จะทำให้มีพื้นที่ว่างในอ่างเก็บน้ำเพียงพอที่จะรองรับปริมาณน้ำจำนวนมากได้ สามารถลดหรือหยุดการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำในช่วงน้ำหลากได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบและลดความรุนแรงของสถานการณ์น้ำท่วมบริเวณพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำได้ อย่างไรก็ตามจ สทนช.จะมีการประเมินปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณจริง โดยมีเป้าหมายเก็บกักน้ำให้เต็มได้ 100% ของความจุอ่างเก็บน้ำก่อนสิ้นสุดฤดูฝน
“เหตุผลดังกล่าวที่ต้องมองทั้งสองมิติ ทั้งมิติการลดผลกระทบความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชา ชนด้านท้ายน้ำ และการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวถึงที่มาของความสำคัญที่จะต้องควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้สมดุล
เลขาธิการ สทนช. ยังได้กล่าวย้ำว่าการควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำไว้ที่ 80% ของความจุ จะดำเนินการเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 15 แห่ง เท่านั้น แต่สามารถที่จะปรับแผนการบริหารจัดการได้ตามสภาพความเป็นจริง อย่างเช่น อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จะต้องพิจารณาแผนการผันน้ำไปยังแหล่งน้ำอื่นร่วมด้วย เนื่องจากแหล่งน้ำทั้งสองเป็นแหล่งน้ำต้นทุนหลักของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีความจำเป็นต้องมีการสำรองน้ำอย่างเพียงพอ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร โดยเฉพาะไม้ผลซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของพื้นที่ เช่น ทุเรียน มังคุด และเงาะ เป็นต้น
ส่วนอ่างเก็บน้ำอื่นๆ ก็สามารถบริหารจัดการน้ำตามแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2568 ที่วางไว้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเขื่อนเป็นหลัก ซึ่ง สทนช. ได้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม โดยเน้นการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกันในระดับลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ ลดความเสี่ยงอุทกภัยในลุ่มน้ำ และเพื่อให้อ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งสามารถกักเก็บน้ำได้เต็มศักยภาพ เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และการรักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้งถัดไป
นอกจากนี้การบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปีนี้ สทนช. ยังให้ความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำเป็นแบบลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ โดยเฉพาะในช่วงน้ำหลาก ซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำในเชิงป้องกันและลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม โดยมีแนวทาง “การจัดจราจรน้ำ” เชื่อมโยงในโครงข่ายลำน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำให้สัมพันธ์กัน ทั้งปริมาณน้ำในแหล่งเก็บกัก ปริมาณน้ำที่ระบาย และปริมาณน้ำในลำน้ำหลักและสาขาตามช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยในพื้นที่ต้นน้ำของอ่างเก็บน้ำทุกขนาด ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำจะทำหน้าที่ในการเก็บกักและชะลอการไหลของน้ำ เมื่อระบายน้ำออกมาจะต้องพิจารณาไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่กลางน้ำและปลายน้ำ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น กลุ่มลุ่มน้ำยม-ลุ่มน้ำน่าน เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญทางตอนเหนือของประเทศไทย ซึ่งมีโครงข่ายคลองเชื่อมโยงกัน ในช่วงฤดูน้ำหลากแม่น้ำยมจะมีปริมาณน้ำมากเกินศักยภาพของลำน้ำที่จะรับไหว เนื่องจากไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในการกักเก็บตัดยอดน้ำ ต่างจากลุ่มน้ำน่านที่พื้นที่ต้นน้ำมีอ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ที่ช่วยตัดยอดน้ำ สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 9,500 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำของกลุ่มลุ่มน้ำนี้ จะเน้นการผันน้ำออกจากแม่น้ำยมบางส่วน ผ่านคลองหกบาทและคลองยม-น่านไปยังแม่น้ำน่านที่อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ และปริมาณน้ำอีกส่วนจะไหลผ่านแม่น้ำยมสายเก่าเข้าสู่ทุ่งบางระกำ ซึ่งจะใช้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำสามารถรองรับน้ำหลากได้ถึง 400 ล้าน ลบ.ม. ก่อนที่จะระบายออกผ่านคลอง DR2.8 และ DR15.8 ลงสู่แม่น้ำน่านที่อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ทั้งนี้ จำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำในแม่น้ำน่านบริเวณจุดบรรจบกับคลองผันน้ำจากแม่น้ำยมเหล่านี้ให้มีระดับต่ำ เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้น้ำจากแม่น้ำยมสามารถไหลลงสู่แม่น้ำน่านได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ด้วยการใช้อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ในการควบคุมการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำน่าน อาจจะต้องลดหรือหยุดการระบายน้ำในช่วงที่มีน้ำหลาก และในช่วงเวลาเดียวกันจะต้องบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ให้มีความมั่นคงและมีพื้นที่กักเก็บน้ำเพียงพอที่จะรองรับปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ด้านเหนือของอ่างเก็บน้ำด้วย
ส่วนลุ่มน้ำอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลุ่มน้ำมูล-ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำแม่กลอง-ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำปราจีนบุรี-ลุ่มน้ำบางปะกง เป็นต้น ก็จะบริหารจัดการน้ำแบบกลุ่มลุ่มน้ำเช่นเดียวกัน
นอกจากลุ่มน้ำภายในประเทศแล้ว ลุ่มน้ำระหว่างประเทศ เช่น ลุ่มน้ำโขง ก็มีความจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการน้ำเชิงระบบลุ่มน้ำเช่นกัน ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ได้คาดการณ์สถานการณ์แม่น้ำโขงว่า
จะมีปริมาณน้ำล้นตลิ่งในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2568 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ 4 จังหวัด ริมแม่น้ำโขงของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดมุกดาหาร และพื้นที่บางส่วนของ สปป.ลาว ซึ่ง สทนช. ได้ดำเนินการเชิงป้องกันไว้ล่วงหน้า โดยเสนอจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อประสานงานด้านอุทกภัยและโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง ร่วมกับ สปป.ลาว นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ภายใต้ กนช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะมีการเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2568 ณ จังหวัดหนองคาย เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการมวลน้ำในพื้นที่เสี่ยง ช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในแม่น้ำโขงที่อาจเกิดขึ้น
ที่่ผ่านมา สทนช. ยังได้ลงพื้นที่บูรณาการทำงานร่วมกับจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงที่มีความเสี่ยงอุทกภัย เพื่อเร่งเตรียมการรับมือให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างทำนบชั่วคราวในลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงที่ยังไม่มีประตูระบายน้ำ เพื่อป้องกันมวลน้ำจากแม่น้ำโขงที่หนุนสูงไม่ให้เอ่อล้นเข้าสู่ลำน้ำ การป้องกันพื้นที่เปราะบาง เช่น โรงพยาบาล สถานดูแลผู้สูงอายุ โรงเรียน รวมถึงการจัดทำทะเบียนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก เพื่อให้ทำการอพยพได้อย่างรวดเร็วทันเวลาหากเกิดสถานการณ์
การแจ้งเตือนประชาชน เป็นอีกเรื่องที่ สทนช. ให้ความสำคัญตามนโยบายของรัฐบาล โดย สทนช. จะออกประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์ล่วงหน้า 2-3 วัน เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปแจ้งเตือนประชาชน โดยนำระบบแจ้งเตือนทุกรูปแบบมาใช้ ทั้งการแจ้งเตือนผ่าน Cell Broadcast (CB) การใช้หอกระจายข่าว วิทยุชุมชน ไปจนถึงการสื่อสารผ่านเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงมากที่สุด พร้อมทั้งได้ประสานกรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. ในการใช้ระบบเรดาร์ติดตามคาดการณ์ปริมาณฝนในลักษณะเฉพาะจุด เพื่อแจ้งเตือนระยะสั้นภายใน 4-6 ชั่วโมง ให้ทันต่อสถานการณ์และมีแม่นยำใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด
การรับมือฤดูฝนปีนี้ สนทช. ทำงานในเชิงรุก ทั้งวางแผน ติดตาม ลงพื้นที่ และประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ภายใต้คู่มือการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และแหล่งน้ำสำคัญต่างๆ เพื่อเตรียมพื้นที่ว่างรองรับน้ำหลาก ช่วยชะลอน้ำและหน่วงน้ำในพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการปรับแผนการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนคาดการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ให้ได้มากที่สุด เหมือนอารยประเทศดำเนินการ