อธิบดีบัญชาร่วมเสวนา “ทางออกที่ยั่งยืนในการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ”
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2568 นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ และร่วมเสวนาวิชาการราชบัณฑิตสัญจร ในหัวข้อ “ทางออกที่ยั่งยืนในการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ” จัดโดย สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ร่วมกับ กรมประมง เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ ในการหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงเป็นแนวทางในการรับมือกับปัญหาสัตว์น้ำต่างถิ่นที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ณ ห้องปลานิลจิตรลดา ชั้น 1 อาคารจรัลธาดา กรรณสูต กรมประมง กรุงเทพมหานคร พร้อมถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ โดยมีผู้แทนจากภาครัฐ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมรับฟังรวมกว่า 200 คน
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า… กรมประมงได้ดำเนินการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปลาหมอคางดำ เป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่มีการแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมง กรมประมงได้ตระหนักถึงปัญหาและความรุนแรงของสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้ร่วมกับสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา จัดเสวนาวิชาการขึ้น ในหัวข้อ “ทางออกที่ยั่งยืนในการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ” โดยการเสวนาครั้งนี้มี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สุรพล อิสรไกรศีล นายกราชบัณฑิตยสภา เป็นประธานเปิดงาน และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สาวิตรี ลิ่มทอง ประธานสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายหน่วยงานมาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และข้อเสนอแนะ ได้แก่ นายอุกกฤต สตภูมินทร์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระ น.ส.ทิวารัตน์ เถลิงเกียรติลีลา ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพด้านการประมงน้ำจืด ดร.วรัณทัต ดุลยพฤกษ์ อาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการประเมินผลกระทบทางน้ำ ร่วมเป็นวิทยากร และมี ศ.ดร.อุทัยรัตน์ ณ นคร ภาคีสมาชิกสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา เป็นผู้ดำเนินการเสวนา โดยเนื้อหาการเสวนาครอบคลุมทั้งในด้านชีววิทยาและนิเวศวิทยาของปลาหมอคางดำ แนวทางควบคุมและจำกัดการแพร่ขยายพันธุ์ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการจัดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ กรมประมงได้ยกระดับการแก้ปัญหาโดยได้จัดทำแผนการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำตั้งแต่ปี 2567 โดยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรภาคประมง โดยได้ดำเนินมาตรการควบคู่ในหลายมิติ อาทิ การปล่อยปลาผู้ล่า การจับปลาหมอคางดำเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เช่น การแปรรูปเป็นอาหาร น้ำปลา การทำน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น พร้อมใช้กลไกรับซื้อสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกรานผ่านกลุ่มเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด จากข้อมูล ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2568 สามารถกำจัดปลาหมอคางดำได้ รวมทั้งสิ้น 6,598,449 กิโลกรัม แบ่งเป็น จากบ่อเลี้ยง 4,231,853.50 กิโลกรัม จากธรรมชาติ 2,366,595.50 กิโลกรัม
กรมประมง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเสวนา เรื่อง “ทางออกที่ยั่งยืนในการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ” ในครั้งนี้ จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกรานที่เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์กับวงการประมงและสังคมได้อย่างแท้จริง…อธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้าย