กยท.เร่งออกโฉนดต้นยางเป็นสินทรัพย์เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพิ่มมูลค่าสร้างเสถียรภาพ / ตั้งเป้าครบ 22 ล้านไร่ใน 2 ปี

กยท. เร่งขับเคลื่อนภายหลัง Kick Off การออกโฉนดต้นยาง รอ คทช. ไฟเขียวตั้งเป้าออกโฉนดให้ครบ 22 ล้านไร่ภายใน 2 ปี หวังยกระดับเกษตรกรเพิ่มมูลค่าต้นยาง แปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน มั่นใจทำให้การบริหารยางมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และราคายางเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ

ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กยท. ได้ Kick Off การมอบโฉนดต้นยางพาราให้เกษตรกรชาวสวนยาง ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยตรงเป้าจะสามารถออกโฉนดต้นยางพารา เพื่อมอบให้แก่เกษตรกรในพื้นที่สวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ตามกฎหมาย จำ นวน 11.17 ล้านไร่ ตามแผน 2 ปี ส่วนสวนยางพาราที่ปลูกในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ กยท. ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) พิจารณาดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน จากนัั้น กยท. ถึงจะนำพิจารณามาออกโฉนดต้นยาง ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ทั้งหมดภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปีอย่างแน่นอน

สำหรับพื้นที่ปลูกยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกยางที่เกษตรกรครอบครองมายาวนาน แต่รัฐไม่สามารถออกโฉนดที่ดินหรือเอกสิทธิ์ที่ดินให้ได้ ทั้งๆ ที่เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมาตั้งแต่ก่อนที่รัฐจะประกาศเป็นเขตป่าสงวนหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติเสียอีก ดังนั้นการออกโฉนดต้นยางเพื่อการแยกกรรมสิทธิ์ต้นยางออกจากกรรมสิทธิ์ที่ดิน จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับเกษตรกร ซึ่งจะทำให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันอย่างยั่งยืน และยังเป็นการป้องกันไม่ให้มีการรุกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องจากโฉนดต้นยางจะระบุพิกัดที่ตั้งของต้นยางนั้นๆ ไว้อย่างชัดเจน เปรียบเสมือนเป็น ID ของต้นยาง โดยต้นยางที่จะออกโฉนดจะมีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป ยกเว้นต้นยางที่โค่นเพื่อปลูกทดแทน

ทั้งนี้ โฉนดต้นยาง ถือเป็นเอกสารสิทธิ์ในครอบครองต้นยางของเกษตรกร เป็นการพัฒนาศักยภาพต้นยางพาราให้เป็นสินทรัพย์ ที่สามารถใช้เป็นหลักประกันของรับบริการสินเชื่อ หรือเป็นหลักประกันเงินกู้เชื่อมโยงกับสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสถาบันการเงินต่างๆ ยกระดับมูลค่าที่ดินแปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน ช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางก็จะมีเงินไปพัฒนาสวนยางพาราของตัวเอง และหนุนเสริมการสร้างรายได้อื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น รายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต เป็นต้น รวมทั้งยังตอบโจทย์แก้ปัญหาในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นไฟป่าจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะต้นยางแต่ละต้นมีเจ้าของเกษตรกรจะต้องดูแลอย่างดี หากปล่อยให้ไฟไหมสวนยางเกษตรกรก็จะสูญเสียรายได้ และที่สำคัญการปลูกยางพาราก็เปรียบเสมือนการปลูกป่า ช่วยเพิ่มออกซิเจน ลดฝุ่น PM 2.5 ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ โฉนดต้นยางยังจะทำให้ยางและผลิตภัณฑ์ยางของไทยสามารถส่งออกไปจำหน่ายในสภาพยุโรป(EU) กฎระเบียบ EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) ที่จะมีผลบังคับใช้ในปลายปีนี้ได้ด้วย เพราะโฉนดต้นยางทุกต้นสามารถสอบย้อนกลับได้ และยังเป็นหลักฐานที่ออกโดยหน่วยงานรัฐยืนยันว่า เป็นสวนยางที่ปลูกบนที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครอง ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม เป็นไปตามกฎระเบียบของ EUDR
“หากสามารถออกโฉนดต้นยางได้ครบทั้ง 22 ล้านไร่ทั่วประเทศแล้ว กยท. มั่นใจว่าจะทำให้บริหารจัดการยางของประเทศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น สร้างความมั่นคงในอาชีพการทำสวนยาง อันจะนำไปสู่การสร้างเสถียรภาพให้ยางพาราอย่างยั่งยืน ซึ่งโฉนดสวนยางนั้นจะเพิ่มมูลค่าให้กับต้นยางอย่างน้อยเฉลี่ยประมาณไร่ละ 27,000 บาท ดังนั้นถ้าออกโฉนดต้นยางได้ครบ 22 ล้านไร่ จะทำให้ต้นยางมีมูลค่ารวมถึง 500,000-600,000 ล้านบาท” ดร.เพิกกล่าว