กยท.เร่งสร้างเสถียรภาพเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศ คุมเข้มขนส่งยางผ่านไทยคลอดมาตรการTransit เตรียมทุ่ม3,000ล้านผลิตยางล้อ “Greenergy Tyre”

กยท. เดินหน้าปราบปรามยางเถื่อน พร้อมเร่งคลอดมาตรการ Transit คุมเข้มการขนส่งยางผ่านประเทศไทย เร่งสร้างเสถียรภาพราคายาง สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร เพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ จับมือ IRC ผลิตยางมอเตอร์ไซด์ พร้อมขอไฟเขียวจากบอร์ด กยท. ทุ่ม 3,000 ล้านบาท ซื้อหุ้นบริษัทผลิตยางล้อชั้นนำผลิตยางรถยนต์แบรนด์ “Greenergy Tyre”

ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญกับปัญหาการลักลอบนำเข้ายางเถื่อน โดยได้ดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหายางเถื่อนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปราบปรามอย่างจริงจัง การตรวจสอบสต๊อกยางตามแนวชายแดน การสำรวจการผลิตยางธรรมชาติของเกษตรกร เป็นต้น ล่าสุด กยท.ร่วมกับกรมกุศลกากรเตรียมจัดทำมาตรการในการขนส่งยางผ่านประเทศไทย(Transit) เพื่อป้องกันยางเถื่อนหลุดลอดเข้าสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะการขนส่งยางจากประเทศพม่าผ่านประเทศไทยไปยังมาเลเซีย ซึ่งมีปริมาณมากถึง 200,000-300,000 ตันต่อปี

สำหรับมาตรการขนส่งยางผ่านประเทศไทยดังกล่าวนั้น กยท.จะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบปริมาณและชนิดของยางตลอดจนเชื้อโรคและสิ่งปนเปื้อน โดยจะต้องขนส่งด้วยรถบรรทุกตู้คอนเทรนเนอร์ซีลปิดล็อกโดยกระทรวงเกษตรฯและกรมศุลกากรเท่านั้น ไม่อนุญาตให้บรรทุกยางโดยรถบรรทุกทั่วไป พร้อมติดตั้งGPS เพื่อใช้ควบคุมการขนส่งตามเส้นทางที่กำหนด ภายใน 72 ชั่วโมงโดยจะต้องTransit ยางผ่านประเทศไทยไปสู่ประเทศปลายทางคือมาเลเซีย กยท.จะคิดค่าบริหารในอัตรา 2 บาทต่อกิโลกรัมเท่ากับเงินค่าธรรมเนียมส่งออกยางพารา (Cess)ที่จัดเก็บจากผู้ส่งออกยางนอกราขอาณาจักร เพื่อนำมาสมทบเป็นกองทุนพัฒนายางพารา ซึ่งจะทำให้ กยท. มีรายๆได้เพิ่มขึ้นอีก 400-500 ล้านบาทต่อปี
“มาตรการดังกล่าว เป็นการทำระบบการขนส่งผ่านประเทศให้ถูกต้อง ป้องกันไม่ให้ยางจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากประเทศพม่าที่ขนส่งผ่านประเทศไทยไปยังประเทศปลายทางคือประเทศมาเลเซีย หลุดลอดออกสู่ประเทศไทยระหว่างการขนส่ง ซึ่งจะทำให้ กยท. สามารถบริหารจัดการยางภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้น โดย กยท.เตรียมทดสอบระบบ ก่อนที่จะประกาศให้มีผลบังคับใช้ในเร็วๆนี้” ดร.เพิกกล่าว
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการสร้่างเสถียรภาพให้ยางพาราของไทยอย่างยั่งยืน นอกจากการปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางเถื่อนอย่างจริงจังแล้ว กยท.จะเร่งส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU)กับ บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายยางยี่ห้อ IRC เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ล้อยางมอเตอร์ไซค์แบรนด์ “Greenergy Tyre”ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐานเทียบเท่าประเทศญี่ปุ่น โดยใช้วัตถุดิบยางพาราจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งขณะนี้ได้ผลิตออกมาในล็อตแรกแล้ว 15,000 เส้น
นอกจากนี้ กยท. ยังมีแผนที่จะเข้าไปถือหุ้นในบริษัทผลิตยางล้อชั้นนำแห่งหนึ่ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติงบประมาณจากคณะกรรมการ กยท. 3,000 ล้านบาท เพื่อผลิตยางล้อรถยนต์แบรนด์ “Greenergy Tyre” ตามสูตรของ กยท. ซึ่งจะใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบมากกว่ายางล้อทุกแบรด์ประมาณ 30% ต่อเส้น พร้อมทั้งยังจะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิตได้มาตรฐานสากล มีความนุ่มนวล ยึดเกาะถนนที่ดีเยี่ยม และมีอายุการงานที่ยาวนานรวมทั้งยังให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่กระบวนการผลิต ยางล้อทุกเส้นสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบยางได้ สอดรับกับกฎระเบียบ EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) ของสหภาพยุโรป(EU) และที่สำคัญจะจำหน่ายในราคาประหยัดอีกด้วย
“กยท.ได้ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ ในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทาง การเกษตรและเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ซึ่งการปราบปรามยางเถื่อนอย่างจริงจังพร้อมจัดทำมาตรการในการขนส่งยางผ่านประเทศไทย ตลอดจนการผลิตยางล้อ Greenergy Tyre ทั้งยางมอเตอร์ไซค์ และยางรถยนต์ดังกล่าว จะมีส่วนสำคัญที่จะสร้างเสถียรภาพด้านราคา และสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรชาวงสวนยาง ตลอดจนอุตสาหกรรมยางอย่างยั่งยืน พร้อมที่ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านผลิตภัณฑ์ยางของภูมิภาค” ประธานบอร์ด กยท. กล่าวในตอนท้าย