ชาวสวนยางทั่วประเทศผนึกกำลังเลื่อนการเปิดกรีด กยท.มั่นใจจะทำให้ราคาเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ

เกษตรกรชาวสวนยางผนึกกำลังตบเท้าเลื่อนการกรีดยางออกไป 1 เดือนตามมาตรการ ของ กยท. เผยมีการใช้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกามาบิดเบือนตลาด ทั้งที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ และความต้องการใช้ยางยังมากกว่าปริมาณผลผลิตอีกด้วย กยท.มั่นใจราคาจะกลับมามีเสถียรภาพและราคาสูงขึ้นอย่างเป็นธรรมแน่นอน

ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เปิดเผยว่า มาตรการเลื่อนฤดูกาลเปิดกรีดยางออกไป 1 เดือนดังกล่าว ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งไม่ใช่เป็นมาตรการโต้ตอบ แต่เป็นการปกป้องตัวเอง เพื่อให้เกิดเสถียรภาพในระบบยางพาราอย่างยั่งยืน เนื่องจากราคายางที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากการตื่นตระหนกในกลุ่มผู้ประกอบการและนักลงทุนบางกลุ่มในตลาดซื้อขายยางล่วงหน้า จากการประกาศนโยบายด้านภาษีของสหรัฐอเมริกา เป็นการบิดเบือนตลาด ทั้งๆที่ปริมาณความต้องการใช้ยางทั่วโลกมีมากกว่าปริมาณผลผลิตยางประมาณ 2% และสต๊อกยางทั่วโลกก็ไม่มีสำรองไว้อีกด้วย
นอกจากนี้การที่สหรัฐอเมริกาเลื่อนการบังคับการขึ้นภาษีนำเข้าออกไปอีก 90 วัน ยิ่งจะทำให้ผู้นำเข้ายางในสหรัฐอเมริกา ต้องใช้ระยะเวลาในช่วงนี้เร่งสั่งซื้อยางเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ที่สุดในโลกประกาศหยุดกรีด เท่ากับเป็นการลดอุปทานทำให้ปริมาณยางส่วนหนึ่งหายไปจากตลาดโลก ในขณะที่อุปสงค์หรือความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น ทั้งนี้คาดว่า การเลื่อนเปิดกรีดยางออกไป 1 เดือน จะทำให้ปริมาณยางตลาดขาดหายไปอีกประมาณ 150,000 – 300,000 ตัน จากปัจจุบันปริมาณยางก็มีน้อยกว่าความต้องการอยู่แล้ว กยท.มั่นใจว่า เมื่อถึงเดือนมิถุนายน 2568 ที่เกษตรกรจะเปิดกรีดยางราคายางจะปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าราคาในปัจจุบันอย่างแน่นอน แต่ถ้าราคายางไม่กลับมาในระดับที่ควรเป็นแล้ว กยท.จะมีการดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อคืนราคายางที่เป็นธรรมให้เกษตรกรชาวสวนยาง
อย่างไรก็ตามราคายางล่าสุดเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นแล้ว หลังสิ้นเดือนเมษายน 2568 ยางแผ่นรมควันชั้น3 (FOB) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 78.14 บาทต่อกิโลกรัม จากที่เคยลดลงไปอยู่ที่ 68.43 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 และคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. เปิดเผยว่า ช่วงระหว่างเลื่อนการเปิดกรีดยาง กยท.จะเข้าไปสนับสนุนและถ่ายทอดองค์ความรู้ในการบำรุงรักษาสวนยางให้แข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตด้วยการใส่ปุ๋ยบำรุง น้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ ตลอดจนการนำนวัตกรรมฮอร์โมนเอทธิลีนมาใช้ในสวนยางอย่างถูกต้อง ซึ่งจะสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่าเดิมถึง 2 เท่า พร้อมทั้ง ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิต (ปุ๋ยบำรุง) โดยสนับสนุนเงินกู้จากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(3) แก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผ่านโครงการสินเชื่อระยะสั้น สำหรับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตยางพารา ซึ่งสถาบันเกษตรกรสามารถยื่นสิทธิ์ขอกู้ได้สถาบันละ 1 สัญญา วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อสัญญา อัตราดอกเบี้ยร้อยละศูนย์ เป็นระยะเวลา 4 เดือน (เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป) ซึ่งจะช่วยสถาบันเกษตรกรฯ ที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อจัดหาปุ๋ยหรือปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ราคาถูก จำหน่ายให้สมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ เป็นการช่วยลดต้นทุน เพิ่มปริมาณผลผลิตยาง และยกระดับรายได้ให้เกษตรกรฯ ได้ในอนาคต สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งยกระดับศักยภาพของเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง ยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

ส่วนเกษตรกรที่เปิดกรีดยางแล้ว ได้ขอความร่วมมือให้นำยางมาเข้าร่วมโครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่ง กยท. จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางในระยะยาว นอกจากนี้ กยท.จะดำเนินการเจรจากับผู้ประกอบการจีน ขับเคลื่อนเรื่องการลดภาษีนำเข้ายางจากไทย ภายใต้ความร่วมมือสมาคมการค้าส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นการส่งเสริมการส่งออก ช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าให้ราคายางปรับตัวดีขึ้น
นายสวัสดิ์ ลาดปาละ รองประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ระดับประเทศ เปิดเผยว่า เกษตรกรที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง พร้อมให้ความร่วมมือกับ กยท.ในการดำเนินการตาม มาตรการเลื่อนฤดูกาลเปิดกรีดยางออกไป 1 เดือน ของ กยท. ที่จากเดิมเกษตรกรจะเริ่มเปิดกรีดในเดือนพฤษภาคม 2568 เลื่อนไปทำการเปิดกรีดในเดือนมิถุนายน 2568 ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางในปัจจุบันมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะสามารถขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวให้ประสบผลสำเร็จ เพื่อผลักดันราคายางพาราให้สูงขึ้นได้อย่างแน่นอน เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ยางมีปริมาณมากกว่าปริมาณยางที่ผลิตได้ ตามกลไกทางการตลาดแล้วราคายางจะต้องเพิ่มขึ้น
นายสมจิต คล้ายประสงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตยางแผ่นรมควันภาคใต้ เปิดเผยว่า ภายหลังจากสหรัฐอเมริกา ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ากับประเทศไทย 36% โรงงานที่รับซื้อยางประกาศลดราคารับซื้อลงทันที 10 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งๆที่สหรัฐอเมริกได้เลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีก 90 วัน การที่โรงงงานผลักภาระให้เกษตรกรฝายเดียวเช่นนี้ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม ดังนั้นทางสมาคมฯและเครือข่ายจะร่วมดำเนินการตามมาตรการของ กยท. โดยชะลอการเปิดโรงรมยางออกไปอีก 1 เดือน เพื่อให้สอดคล้องกับเกษตรกรที่เลื่อนการเปิดกรีดยาง สมาคมฯและเครื่อข่ายมั่นใจว่า มาตรการดังกล่าวของ กยท.จะทำให้ราคายางเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้จะไปเปิดโรงรมในเดือนมิถุนายน 2568