ถึงเวลาเปลี่ยนสู่”สวนยางยั่งยืน” สู้วิกฤตราคายางและปรากฏการณ์เอลนีโญ

ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย สร้างรายได้เข้าประเทศปีละมากกว่าแสนล้านบาท แต่ด้วยสถานการณ์ราคายางค่อนข้างต่ำต่อเนื่องมายาวนาน ขณะที่ต้นทุนและปัจจัยการผลิตมีราคาสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ปลูกยางเพียงอย่างเดียวขาดความมั่นคงในอาชีพ ภาครัฐพยายามที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชแซมยาง ด้วยการสนับสนุนปัจจัยการผลิตและเงินทุน แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงทำ “สวนยางเชิงเดี่ยว” แบบเดิม เนื่องจากไม่มีความรู้ในการปลูกพืชแบบอื่น และกังวลว่าการปลูกพืชแซมยางจะกระทบต่อผลผลิตยางที่ได้รับ
ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพการทำสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จึงไดัขับเคลื่อนนโยบายการทำ “สวนยางยั่งยืน” ซึ่งเป็นการทำสวนยางที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีการจัดการรูปแบบการปลูกยางใหม่ โดยให้มีต้นยางเพียง 40-44 ต้น/ไร่ จากรูปแบบการปลูกยางเดิม 76-80 ต้น/ไร่ มีการทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดการใช้เคมี มีการปลูกพืชร่วมยาง เช่น ผักพื้นบ้าน ผลไม้ พืชสมุนไพร ไผ่ กาแฟ เป็นต้น มีการทำเกษตรผสมผสาน เช่น เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงผึ้ง ทำฟาร์มเห็ด เลี้ยงปลา เป็นต้น รวมทั้งมีการปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นตะเคียนทอง จำปาทอง ไม้สัก พะยูง ยางนา โดยมุ่งหวังให้เกษตรชาวสวนยางมีรายได้มั่นคงเพียงพอต่อการดำรงชีวิต มีสุขภาพที่ดี สร้างสมดุลชีวิตให้กับเกษตรกรในระยะยาว ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตามการที่จะให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจาก “สวนยางเชิงเดี่ยว” เป็น”สวนยางยั่งยืน” อย่างเป็นรูปธรรมนั้น จำเป็นต้องมีตัวอย่างสวนยางยั่งยืนต้นแบบ เพื่อขยายผลให้สำเร็จผลตามเป้าหมาย


นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. เปิดเผยว่า กยท. มีนโยบายให้เกษตรกรชาวสวนยางทำเกษตรกรรมยั่งยืน แบบผสมผสาน ปลูกพืชแซมยาง และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งสวนยางพาราของ นางสาวชรินทร์ทิพย์ เชื้อเมืองพาน เกษตรกรชาวสวนยาง ตำบลโป่งแพร่ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เป็นสวนยางต้นแบบที่ได้รับคัดเลือกในระดับสาขาและระดับจังหวัด 2 ปีซ้อน ภายใต้ “โครงการสนับสนุนเกษตรกรต้นแบบด้วยเกษตรกรรมยั่งยืน” ประจำปีงบประมาณ 2565-2566 ของ กยท.จ.เชียงราย โดยได้ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ตั้งแต่ปี 2558 มีเนื้อที่ทั้งหมด 30 ไร่ เป็นสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์และเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรรายอื่น กลุ่มนักเรียนนักศึกษา รวมทั้งผู้ที่สนใจทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันมีบุคคลภายนอกเข้ามาศึกษาดูงานในพื้นที่สวนยางแห่งนี้เป็นประจำ และ กยท. ยังได้จัดทำข้อมูลพื้นที่สวนยาง ที่สามารถค้นหาพิกัดแปลงผ่านระบบ GIS รองรับมาตรการตรวจสอบย้อนกลับตามกฎหมาย EUDR ของสหภาพยุโรปอีกด้วย
สำหรับสวนยางต้นแบบเกษตรกรรมยั่งยืนของนางสาวชรินทร์ทิพย์ เป็นการทำสวนยางในรูปแบบวนเกษตร ซึ่งเป็นการทำเกษตรกรรมในพื้นที่สวนยางที่เป็นลักษณะของป่า มีความหลากหลายทางระบบนิเวศน์ มีการบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค้า โดยมีการปลูกพืชแซมในสวนยาง เช่น โกโก้ กาแฟ ขิง ลองกอง เงาะ และกลุ่มพืชสมุนไพร เป็นต้น สามารถเก็บผลผลิตมาใช้ประโยชน์และสร้างรายได้ มีการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ เป็ด ไก่ นำมูลมาใช้เป็นปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ยังได้ขุดบ่อกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในสวนยาง พร้อมทั้งขุดคลองไส้ไก่ขนาบบ่อ และเลี้ยงสัตว์น้ำ เลี้ยงผึ้ง ควบคู่ไปด้วย
“การทำสวนยางยั่งยืนนั้น จะทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพ มีรายได้ตลอดทั้งปี แม้ราคายางจะผันผวนก็จะได้รับผลกระทบไม่มากนัก สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ทั้งนี้ กยท. พร้อมที่จะสนับสนุน ส่งเสริมให้เกษตกรชาวสวนยางปรับเปลี่ยนจากการทำสวนยางเชิงเดี่ยวมาทำสวนยางยั่งยืน ซึ่งมีรูปแบบให้เลือก 5 รูปแบบด้วยกัน คือ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน เกษตรธรรมชาติ และวนเกษตร โดยเกษตรกรสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้” ผู้ว่าการ กยท.กล่าว
นายเกียรตินันท์ ยิ้นซ้อน ผู้อำนวยการ กยท.จ.เชียงราย กล่าวว่า ในปี 2565 สวนยางของนางสาวชรินทร์ทิพย์ ได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรสวนยางต้นแบบระดับสาขา กยท. สนับสนุนระบบปั๊มโซล่าเซลล์สูบน้ำ มูลค่ารวม 100,000 บาท เพื่อสูบน้ำใช้ภายในสวนยาง ทั้งการปลูกพืชแซมและการเลี้ยงสัตว์ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง สามารถลดผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ต่อมาในปี 2566 ได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรสวนยางต้นแบบระดับจังหวัด กยท. ได้สนับสนุบงบประมาณเพื่อพัฒนาสวนยางรวมทั้งสิ้น 400,000 บาท เพื่อจัดการสวนยางให้เกิดประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 1.ปรับปรุงอาคารอเนกประสงค์เป็นศูนย์เรียนรู้ 2.การขุดลอกสระน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำและเลี้ยงสัตว์น้ำ 3.สร้างโรงเรือนเลี้ยงเป็ด-ไก่ไข่และจัดหาแม่พันธุ์ 4.อุปกรณ์ระบบเจาะแก๊ส/ติดหมวกต้นยาง 500 ชุด 5.แบตเตอรี่ในระบบโซล่าเซลล์ 6.ถังเก็บน้ำขนาด 3,000 ลิตร 7.กิจกรรมเลี้ยงกบ เลี้ยงผึ้ง เลี้ยงปลา เลี้ยงแหนแดงพันธุ์กรมวิชาการเกษตร และ 8.การปลูกผักสมุนไพรและผักพื้นบ้านในสวนยาง
ด้านนายจัตุรัส กั้นสกุล เกษตรกรชาวสวนยาง กล่าวว่า กยท. ได้ให้งบประมาณสนับสนุนการทำสวนยางยั่งยืนภายใต้เงื่อนไขที่ กยท. กำหนดไว้ โดยได้นำเงินสนับสนุนไปใช้ในการจัดการสวนยางให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะในการนำระบบปั๊มโซล่าเซลล์สูบน้ำมาใช้ สามารถลดค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าไฟฟ้าอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม คาดว่าภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี จะคุ้มทุนที่ กยท. ให้การสนับสนุน 100,000 บาท อย่างแน่นอน และยังสามารถใช้งานต่อเนื่องยาวนานไปกว่า 20 ปี
นายจัตุรัส กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบโซล่าเซลล์ที่ กยท. ให้การสนับสนุน สามารถลดค่าไฟฟ้าจากเดิมที่เคยจ่ายประมาณเดือนละ 1,500 บาท เหลือเพียงประมาณ 200 บาทต่อเดือนเท่านั้น เครื่องใช้ไฟฟ้าที่สวนยางทั้งหมด จะใช้ไฟฟ้าผลิตจากโซล่าเซลล์เป็นหลัก โดยใช้ครอบคลุมทุกกิจกรรมภายในสวนยาง ทั้งระบบปั๊มสูบน้ำ เพื่อใช้สำหรับยางพารา พืชแซมยาง เลี้ยงสัตว์ และยังใช้สำหรับสูบน้ำเติมน้ำในบ่อปลา นอกจากนี้ยังกับใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นพัดลม โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องเชื่อม และสามารถใช้เครื่องปรับอากาศ ขนาด 12,000 บีทียู ได้อีกด้วย เรียกว่าใช้ตลอด 24ชั่วโมงก็ว่าได้


“การทำสวนยางยั่งยืน ทำให้มีรายได้จากหลายทาง แต่รายได้หลักก็ยังมาจากการขายยาง โดยในขณะนี้จะขายยางในรูปแบบยางก้อนถ้วย ผ่านทางตลาดกลางยางพาราร่วมกับสหกรณ์ยางพาราแม่ลาว- แม่กรณ์ จำกัด และส่งผลผลิตให้ กยท. ภายใต้โครงการชะลอยางพารา (รูปแบบยางก้อนถ้วยแห้ง) นอกจากนี้ยังจะมีรายได้จากพืชที่ปลูกแซมสวนยาง ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ ขายเมล็ดสดให้กับโรงงานแปรรูปในพื้นที่ โกโก้ มีบริษัทเอกชนมารับซื้อ ในขณะที่ผลไม้ พืชสวนครัว พืชสมุนไพร ปศุสัตว์ และปลา จะนำมาบริโภคภายในครัวเรือน ลดค่าใช้จ่าย มีเหลือจึงจะจำหน่ายในตลาดท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการขายน้ำผึ้งทั้งขายตรงให้กับลูกค้าที่ต้องการซื้อ และขายให้แก่พ่อค้าทั่วไป ขายได้ประมาณ150 ขวดต่อปี จึงทำให้มีรายได้ตลอดทั้งปี สร้างความมั่นคงให้กับอาชีพเกษตรกรชาวสวนยางได้อย่างน่าพอใจ” นายจัตุรัส กล่าว
ส่วนสถานการณ์เอลนีโญที่จะทำให้ฝนตกน้อยลงนั้น นายจัตุรัส ยืนยันว่า จะไม่กระทบต่อสวนยางยั่งยืนของตนเอง เพราะมีแหล่งน้ำสำรองภายในสวนยาง และยังมีระบบสูบน้ำโซล่าเซลล์มาเติมตลอดเวลา เพียงพอสำหรับยาง และพืชแซมสวนยาง ตลอดจนใช้ในกิจกรรมอื่นๆ อย่างแน่นอน
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า การทำสวนยางยั่งยืน แม้จะมีจำนวนต้นยางลดลงจาก 70-80 ต้นต่อไร่ เหลือประมาณ 40-44 ต้นต่อไร่ แต่ผลผลิตยางรวมไม่ได้ลดลง เนื่องจากความสมดุลของระบบนิเวศน์ ความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ และการที่ต้นยางอยู่ร่วมกับพืชอื่นๆ ในทางหลักพฤกษศาสตร์ จะทำให้ยางมีความสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่เป็นโรค จึงทำให้เปอร์เซ็นต์ต่อต้นสูงสุด ปริมาณยางได้จึงใกล้เคียงกับการปลูกยางเชิงเดี่ยว นอกจากนี้ต้นทุนการผลิตยังลดลง เพราะลดการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีต่างๆ และอื่นๆ รวมทั้งยังมีรายได้เสริมจากพืชที่ปลูกแซม จากการเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา พืชสวนครัว พืชสมุนไพรอีกด้วย ลดการพึ่งพารายได้จากยางเพียงอย่างเดียว ลดรายจ่ายในครัวเรือน
“สวนยางยั่งยืน” คือ คำตอบของแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางอย่างแท้จริง