ราชบัณฑิตยสภาเตรียมจัดใหญ่ประกวดเล่าเรื่องด้วย”ภาษาไทยถิ่น”4 ภูมิภาค ดีเดย์ภาคใต้ในวันเสาร์ 23 เม.ย.ที่จ.สงขลา “ศานติ”ย้ำหวังให้เยาวชนคนรุ่นใหม่รักในภาษาถิ่น ภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นและไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง

สำนักกงานราชบัณฑิตยสภา เตรียมพร้อมจัดการประกวดเล่าเรื่องหัวข้อ “ท้องถิ่น ที่มา ภาษา วัฒนธรรม” ด้วยภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่นในโครงการ “รู้ รัก ภาษาไทย”ประจำปี 2565 ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกปีนับตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน โดยปีนี้เริ่มที่ภาคใต้ จ.สงขลาเป็นแห่งแรกในวันเสาร์ 23 เมษายน 2565 เวลา 09.00-12.00 น. ณ โรงแรม ต้นอ้อย แกรนด์ จังหวัดสงขลา

นายศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภากล่าวในรายการ”เปิดบ้านการเกษตร”ทางสถานีวิทยุม.ก.ถึงที่มาการจัดการประกวดเล่าเรื่องหัวข้อ “ท้องถิ่น ที่มา ภาษา วัฒนธรรม” ด้วยภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่นในโครงการ “รู้ รัก ภาษาไทย” โดยระบุว่า หน้าที่หลักอย่างหนึ่งของสำนักงานราชชบัณฑิตยสภาตามพ.ร.บ.ราชบัณฑิตยสภา พุทธศักราช 2558 ฉบับปัจจุบัน ระบุไว้ข้อหนึ่งว่ามีหน้าที่ ศึกษา อบรมและพัฒนาภาษไทย ภาษาถิ่น การอนุรักษ์ภาษาไทยไม่ให้แปรเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม เป็นการส่งเสริมภาษาไทยให้ปรากฎเด่นชัดยิง่ขึ้น


“การจัดประกวดเล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นไม่ใช่เพิ่งจัด เราก็จัดต่อเนื่องมานานแล้ว เริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยแบ่งตามภูมิภาคทั้ง 4 ภาคเพื่อให้เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่รักในภาษาถิ่น ให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม เมื่อเขารู้ถึงคุณค่าของภาษาถิ่น เขาก็จะภูมิใจในความเป็นท้องถิ่นของตัวเอง ภูมิใจในวัฒนธรรมของตัวเขา ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างเยาวชนคนรุน่ใหม่ที่เติบโตในโลกปัจจุบันที่มีรากเหง้าของภูมิปัญญาเพื่อจะต่อยอดก้าวหน้าต่อไปในอนาคต”รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการบัณฑิตยสภากล่าวย้ำ
อย่างไรก็ตามการประกวดเล่าเรื่องหัวข้อ “ท้องถิ่น ที่มา ภาษา วัฒนธรรม” ด้วยภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่นในโครงการ “รู้ รัก ภาษาไทย”ในปีนี้จะแบ่งการประกวดเป็น 2 รอบ คือ รอบแรก จะคัดเลือกจากวีดิทัศน์ของแต่ละภาคให้เหลือภาคละ 10 คน ผู้ผ่านรอบแรก พร้อมโรงเรียนจะได้รับเกียรติบัตร จากสำนักงานราชบัณฑิตยสภา
ส่วน รอบสุดท้าย ผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรกในแต่ละภาคต้องเล่าเรื่องตามประเด็นเดิมในรอบแรก ต่อหน้าคณะกรรมการคัดเลือกของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา โดยการจัดการประกวดรอบสุดท้ายจะเริ่มจาก ภาคใต้ ในวันเสาร์ที่ 23 เมษายน 2565 ณ โรงแรม ต้นอ้อย แกรนด์ จ.สงขลา ภาคเหนือ จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2565 ณ โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซต์ เชียงใหม่ ภาคอีสาน จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์, และภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมกรุงศรี ริเวอร์ อยุธยา ต่อไป
สำหรับเยาวชนที่เข้าร่วมประกวดแข่งขันเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น(ม.1-3) จากโรงเรียนต่าง ๆ ในแต่ละภาค โดยให้นักเรียนเล่าเรื่องด้วยภาษาถิ่นที่แสดงถึงวิถีชีวิต ประเพณี การละเล่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สถานที่ หรือบุคคลสำคัญในท้องถิ่นของตน (โรงเรียนที่อยู่ในภาคใต้ เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นภาคใต้, โรงเรียนที่อยู่ในภาคเหนือ เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นภาคเหนือ, โรงเรียนที่อยู่ในภาคอีสาน เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นภาคอีสาน และโรงเรียนที่อยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยมาตรฐาน) โดยคณะกรรมการจะพิจารณาจากความสามารถในการใช้ภาษาถิ่น มีเนื้อหาที่ผู้ฟังประทับใจ และมีลีลาในการเล่าเรื่องได้อย่างเป็นธรรมชาติสมวัย
ทั้งนี้การประกวดดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2565 โดยนักเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ1 และรองชนะเลิศอันดับ2 จะเข้ารับรางวัลในงานวันภาษาไทยแห่งชาติของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาต่อไป