สอวช. จัดประชุมแลกเปลี่ยนแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน กับ กลุ่มการเงินและตลาดทุนชั้นนำ จุดประกายขับเคลื่อนนโยบายที่ชัดเจนร่วมกัน

ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ Thai SCP Network และโครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG Move จัดกิจกรรมสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ ภายใต้โครงการบูรณาการและขับเคลื่อนภาคส่วนของไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน CE Innovation Policy Forum ในกลุ่มการเงินและตลาดทุน ครั้งที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีวิทยากรชั้นนำประกอบด้วย ดร. ไชยยศ บุญญากิจ รองประธานเครือข่าย Thai SCP ผศ. ดร. ธีรวุฒิ ศรีพินิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนายนพพล เตชะพันธ์งาม ผู้ก่อตั้งและ CEO นอนนอน บริษัทสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ดำเนินรายการโดย ผศ. ดร. ธีรวุฒิ และ รศ.ดร. สยาม อรุณศรีมรกต คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีผู้สนใจทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน นักลงทุน และหน่วยงานด้านนโยบายเข้าร่วมกว่า 80 คน

ผศ.ดร. ธีรวุฒิ กล่าวถึงทิศทาง บทบาทและโอกาสของภาคการเงินในบริบทเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่ละภาคส่วนมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งหมด เมื่อภาคธุรกิจมีโอกาส ภาคการเงิน นักลงทุน รวมถึงภาครัฐ ผู้สนับสนุนนโยบายก็มีโอกาสในการสนับสนุนทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือความเข้าใจร่วมกันของทุกภาคส่วน ที่สำคัญคือต้องเรียนรู้ว่าโอกาสจะมาพร้อมกับการเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมอง จากการอยู่ในระบบเศรษฐกิจดั้งเดิมที่เป็นแบบเส้นตรง ผลิต ซื้อ ขาย บริโภค ทิ้ง มองว่าเป็นความเคยชิน เห็นความเสี่ยงของธุรกิจในระดับต่ำ ให้หันไปมองถึงผลกระทบทางทรัพยากรมากขึ้น และปรับมุมมองเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เห็นว่ามีความเสี่ยงสูงให้เป็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่มีแนวโน้มช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาว

“สิ่งที่ภาคการเงินจะช่วยได้มากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน คือมุมมองในเรื่องการจัดการความเสี่ยง หาทางเลือกใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการ ผู้เล่นหลัก ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการทางการเงิน และผู้กำหนด/ออกแบบนโยบาย จำเป็นต้องมาทำงานร่วมกัน มองในมุมมองใหม่ สร้างโอกาสใหม่ เผชิญกับความเสี่ยงใหม่ ลดความเสี่ยงเดิม สิ่งที่จำเป็นอย่างมากที่จะทำให้เกิดความเข้าใจภาพรวมในเรื่องนี้คือการกำหนดตัวชี้วัดใหม่ที่ต้องคำนึงถึงผู้เกี่ยวข้อง ต้องสร้างมาตรฐานให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และสุดท้ายคือการมีแนวปฏิบัติให้สามารถเดินไปตามทิศทางที่วางแผนเอาไว้ ซึ่งนี่เป็นส่วนที่นักนโยบายและภาครัฐ จะต้องริเริ่มเข้ามาช่วยกันในการกำหนดขึ้น ซึ่งภาคการเงินพร้อมสนับสนุน เพียงต้องสร้างความเข้าใจร่วมกัน ผ่านการมีมาตรฐานที่เป็นตัวชี้วัดเดียวกัน” ดร. ธีรวุฒิ กล่าว

สำหรับความท้าทายในการระดมทุนที่ผ่านมา นายนพพล มองว่า ในภาพรวมนักลงทุนยังกังวลเรื่องของความใหม่ของธุรกิจ ส่วนใหญ่ยังอยากเห็นโมเดลธุรกิจที่ได้รับการพิสูจน์แล้วหรือประสบความสำเร็จแล้วในต่างประเทศ เมื่อเป็นธุรกิจใหม่จริงๆ จึงทำให้เกิดความลังเลในการลงทุน อีกทั้งธุรกิจของบริษัทยังเป็นธุรกิจที่ใช้เงินทุนค่อนข้างเยอะ และต้องอาศัยเงินทุนจากตลาดหนี้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นอกจากนี้ ในส่วนของการทำวิจัย มีความเป็นไปได้ที่บริษัทฯ อาจไม่ค้นพบเทคโนโลยีรีไซเคิลที่นอนที่คุ้มกับค่าใช้จ่ายได้

อย่างไรก็ตามการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญให้ทุกฝ่ายได้มาร่วมแบ่งปันความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทาง และความต้องการที่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต ทั้งในแง่แนวทางการสนับสนุน การขับเคลื่อนด้านนโยบาย การอำนวยความสะดวกจากสถาบันการเงิน และแนวคิดจากนักวิชาการ ทั้งนี้สอวช.มีแนวทางเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนด้านเงินทุนให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการริเริ่มธุรกิจในด้านนี้ แต่ยังต้องมีการหารือเพิ่มเติมในด้านรูปแบบ กลไกในเชิงนโยบาย รวมถึงรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ อีกครั้ง