ปทุมธานีสร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ เมืองท่องเที่ยววิถีใหม่

สสส.-ภาคีเครือข่าย เกษตรกรรมปทุมธานี  หนุน ชุมชน-ร้านอาหาร-โรงเรียน สร้างความมั่นคงทางอาหาร   สู่ เมืองท่องเที่ยววิถีใหม่ ปลอดภัย ไกลโควิด-19 “ ชม โชว์ ชิม ช็อป แชร์ เชื่อม

              เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564  ณ.ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพตามศาสตร์พระราชา (ฟาร์มเห็ดป้านา) บ้านคลองขวางบน อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายอาหารปลอดภัย ได้จัดแถลงข่าว กิจกรรม “ท่องเที่ยววิถีใหม่ ปลอดภัย ห่างไกลโควิด-19  ชม โชว์ ชิม ช็อป แชร์ เชื่อม” โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 3-4 เมษายน 2564 นี้   โดยมี นายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีเป็นประธาน  ดร.สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิฯ จาก สสส. นายพงษ์พันธ์ นาคสวัสดิ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลลาดหลุมแก้ว นางสาวธนพร โพธิ์มั่น  ประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืน จังหวัดปทุมธานี  ในการจัดกิจกรรมมีวัตถุประสงค์ เพิ่มพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร ปลอดสารเคมี สร้างแหล่งเที่ยวที่ปลอดภัย ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี สู่ เมืองสุขภาวะยั่งยืน

              นายพงศธร กาญจนะจิตรา  รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี  กล่าวว่า จ.ปทุมธานี มีพื้นที่เกษตรกรรม ที่ดินมีความเหมาะสมต่อการเพาะปลูก จำนวน 635,647 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ จำนวน157.33 ไร่ กิจกรรมท่องเที่ยววิถีใหม่ ปลอดภัยห่างไกลโควิด-19 จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและ ผลักดันให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เกษตรปลอดสารเคมีให้ได้มากที่สุด เพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาชน ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีในการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว กระตุ้นรายได้เศรษฐกิจชุมชน และที่สำคัญเป็นการจัดกิจกรรมในรูปแบบที่ปลอดภัย เน้น การให้ความรู้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด 19 ที่กำลังสร้างปัญหาไปทั่วโลก การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีการดูแล ควบคุม เฝ้าระวัง ตามหลักสาธารณสุขอย่างดี และให้ความสำคัญ คือ การเที่ยวให้มีความสุข สนุก และปลอดภัย

              นางสาวธนพร โพธิ์มั่น ประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืน จ.ปทุมธานี กล่าวว่า โครงการขับเคลื่อนระบบอาหารปลอดภัยและโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน ที่ สสส. สนับสนุน ได้ช่วยกระตุ้นให้เกษตรกร อ.ลาดหลุมแก้ว และพื้นที่ใกล้เคียง จ.ปทุมธานี หันมาสนใจการทำเกษตรปลอดสารเคมี อาหารมีความปลอดภัยมากขึ้น สร้างความมั่นคงระบบอาหารในชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยได้สร้างแหล่งเรียนรู้เรื่องการจัดแวดล้อมด้านอาหาร เช่น การปรุงดินให้ปลอดสารเคมี เพื่อจุดประกายให้คนที่สนใจอาชีพ เกษตรกรรมตระหนักว่า “สารเคมีทางการเกษตร” เป็นอันตรายกับชีวิตตัวเอง ครอบครัว และผู้บริโภค ที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ โดยภายในงาน วันที่ 3-4 เมษายน 2564 นี้ จะมีกิจกรรมสอนฟรี เรื่องการปรุงดิน ไส้เดือน  การปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ การเลี้ยงผึ้งโพรง การสอนทำปาท่องโก๋ไม่อมน้ำมัน การสอนงานไม้ ปลูกผักยกแคร่ การสอนเพาะเห็ด 9 ชนิด และตลอดงาน จะมี ผัดไทเห็ดป้านา อาหารเพื่อสุขภาพจากผลผลิตเกษตรอินทรีย์ น้ำดื่มสมุนไพร ให้บริการฟรี

              ดร.สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาหารและโภชนาการ สสส. กล่าวว่า การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมี คือ จุดยืนที่ สสส. ต้องการขยายอาหารปลอดภัยให้เพิ่มขึ้นในประเทศไทย จึงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยเร่งสนับสนุน ส่งเสริม และสานพลังกับภาคีเครือข่าย สร้างระบบเกษตรและอาหารที่ปลอดภัย เพื่อทำให้ประชาชนหันมาปลูกผักและผลไม้ไว้กินเอง เลือกแหล่งซื้อ-ขายที่ปลอดภัย และรู้จักการล้างผักผลไม้ให้ถูกวิธี เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและป้องกันชีวิตจากสารเคมีที่ปนเปื้อนได้ เพราะคนที่มีสุขภาพดีเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่กระตุ้นเศรษฐกิจระดับชาติ สู่ ความยั่งยืนได้  และขอบคุณ ดร.ณัจยา แก้วนุ้ย ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนระบบอาหารปลอดภัยและโภชนาการฯ(สสส.) ที่อยู่เบื้องหลังและผลักดันให้ปทุมธานีเป็นพื้นที่เมืองอาหารปลอดภัย และโภชนาการที่ดี ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนได้บริโภคผักผลไม้ ที่ปลอดภัยอย่างพอเพียง หรือเพิ่มมากขึ้น ได้เข้าถึงระบบการเพาะปลูก ในยามวิกฤติจากโรคระบาดโควิด-19 ควบคู่การสร้างพื้นที่แหล่งเรียนรู้อาหาร ลดอัตราของภาวะโรคอ้วนในวัยเรียน พัฒนาองค์ความรู้เชิงวิชาการเพื่ออาหารกลางวัน สำหรับเด็กนักเรียน ลดการเกิดโรค NCD’s ในวัยทำงาน

              สำหรับท่านที่สนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ การสร้างอาชีพจากการเพาะปลูกเห็ด เลี้ยงผึ้ง ทำดินเลี้ยงไส้เดือน รับแจกต้นกล้าไม้ และเมล็ดพันธุ์พืชหายาก พร้อมมาถ่ายรูปเซลฟี่กับวิวสวยในบรรยากาศต้นไม้ร่มเย็น ทะเลสาบพร้อมเจตสกี มีนา-สวนผัก ผลไม้เก็บกินได้ตามสบายใจ การจำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ราคาถูกมากๆ ขอเชิญมา “ชม โชว์ ชิม  ช็อป แชร์ เชื่อม”  วันที่ 3-4 เมษายน 2564 ตั้งแต่  10.00-18.00น.      ณ.ฟาร์มเห็ดป้านา อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี โทร.061-5907638