สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 27 มี.ค. 64

สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 27 มี.ค. 64

  • ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้มีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนอง ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.นราธิวาส (150 มม.) จ.น่าน (43 มม.) จ.กาญจนบุรี (35 มม.)
  • แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มลดลง ส่วนแม่น้ำโขง น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มทรงตัว
  • ปริมาณน้ำใช้การ แหล่งน้ำทุกขนาด 17,186 ล้าน ลบ.ม. (30%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 12,500 ล้าน ลบ.ม. (26%) เฝ้าระวังน้ำน้อย จำนวน 12 แห่ง
  • คุณภาพน้ำ ณ จุดเฝ้าระวังน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี ค่าความเค็ม อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนน้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน บริเวณปากแม่น้ำ
  • สทนช. ลงพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
    ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 โดยได้ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ดังนี้
    สถานการณ์น้ำในพื้นที่บุรีรัมย์ ช่วงฤดูแล้งปีนี้ ไม่วิกฤติ เนื่องจาก มีการบริหารจัดการน้ำค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ปริมาณน้ำใช้การได้ ในแหล่งน้ำทุกขนาดมีความจุรวมทั้งสิ้น 475 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำใช้การ 266 ล้าน ลบ.ม. หรือ 56% ซึ่งมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 63 ถึง 154 ล้าน ลบ.ม.

  • อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณน้ำอุปโภค-บริโภคจะไม่ขาดแคลน แต่ยังคงต้องจัดสรรน้ำเพื่อกิจกรรมการต่างๆ ตลอดทั้งฤดูและสำรอง ถึงต้นฤดูฝน จึงได้มอบหมายให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งให้เป็นไปตามแผนเนื่องจากสภาพน้ำต้นทุนมีจำกัด ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะรณรงค์ไม่ให้มีการเพาะปลูกข้าวเพิ่มขึ้นอีก เพื่อไม่ให้กระทบกับน้ำต้นทุน ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการเพาะปลูกแล้ว 3.2 หมื่นไร่ จากแผน 1.6 หมื่นไร่

  • สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาวของจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นจังหวัดในลุ่มน้ำมูล สทนช. ได้จัดทำโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) พื้นที่ลุ่มน้ำมูล เพื่อกำหนดทางเลือกในการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนภายใต้เงื่อนไขสภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อได้ผลการศึกษาเรียบร้อยแล้วจะนำไปขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำต่อไป