พลเอก ประวิตร”ย้ำแผนคุมแล้งปลายฤดู ล่าสุดยังไม่พบพื้นที่ประกาศภัย กนช.ส่งสัญญาณเร่งตุนน้ำต้นฤดู
“พลเอก ประวิตร”ย้ำแผนคุมแล้งปลายฤดู…ล่าสุดยังไม่พบพื้นที่ประกาศภัย
กนช.ส่งสัญญาณเร่งตุนน้ำต้นฤดู คาดฝน เม.ย.-มิ.ย.มากกว่าปีก่อน
วันที่ 25 มี.ค.64 เวลา 10.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2564 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานตาม มติ กนช. อาทิ การติดตามผลการแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2563/64 การพิจารณาแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชในฤดูฝน ปี 2564 รวมถึงมาตรการรับมือฤดูฝน และแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูคลองแสนแสบ เป็นต้น
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการติดตามผลดำเนินการ 9 มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2563/64 พบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการส่งผลให้ปัจจุบันยังไม่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แต่อย่างใด ซึ่งในอีกประมาณ 1 เดือนจากนี้ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานยังต้องติดตามเฝ้าระวัง เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่อาจจะมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำได้ในพื้นที่เป้าหมายที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะเรื่องน้ำอุปโภค-บริโภค แต่ก็มั่นใจว่ามาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการในเชิงป้องกันสามารถบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนในช่วงปลายฤดูแล้งได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน โดยเฉพาะการใช้น้ำทุกภาคส่วนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และปลูกพืชฤดูแล้งให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับน้ำต้นทุนต้นฤดูฝนเพื่อเริ่มต้นการเพาะปลูกข้าวนาปีได้ตามแผน ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 เกินแผนมาก โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่ปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และมีการเพาะปลูกข้าวนอกแผนในเขตชลประทานจำนวนมาก ทำให้การจัดสรรน้ำไม่เป็นไปตามแผน ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้กรมชลประทานควบคุมการจัดสรรน้ำและการลำเลียงน้ำจากอ่างฯ ให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด และมอบหมายกระทรวงเกษตรฯ กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพน้ำต้นทุนเพื่อลดการใช้น้ำในระดับตำบล และจัดทำแนวทางการขับเคลื่อน (RoadMap) ให้เป็นรูปธรรมด้วย
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบการวางแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกฤดูฝนปีนี้ และ 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 โดยมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบและกรอบระยะเวลาดำเนินงานที่ชัดเจน อาทิ การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนทิ้งช่วง การบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำเพื่อใช้รองรับน้ำหลาก ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลางและเขื่อนระบายน้ำ ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขุดลอกคูคลอง กำจัดผักตบชวา เตรียมความพร้อมเครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโดยเร็วก่อนเข้าสู่ฤดูฝน เพื่อมอบหมายหน่วยงานนำมาตรการต่างๆ ไปจัดทำแผนปฏิบัติการต่อไป ซึ่งจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า ปริมาณฝนทั้งประเทศในเดือนมีนาคมปริมาณฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 11 ส่วนเดือนเมษายนจะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 41 และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนปี 2564 ปริมาณฝนในเดือนพฤษภาคมจะมากกว่าปริมาณฝนเฉลี่ยร้อยละ 3 และเดือนมิถุนายนจะมากกว่าปริมาณฝนเฉลี่ยร้อยละ 7 จากนั้นในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 5 และ 1 ตามลำดับ ซึ่งอาจจะทำให้มีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง โดยเบื้องต้นกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงเป็นรายตำบล และแจ้งหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมแผนรองรับเพื่อป้องกันผลกระทบให้กับประชาชนให้ไม่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเหมือนช่วงฤดูแล้งที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน
ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการประเมินปริมาณน้ำต้นทุนต้นฤดูฝนปี 2564 ณ 1 พ.ค 2564 ปริมาณน้ำใช้การอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ทั่วประเทศ จะมีปริมาณน้ำรวม 8,371 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 18 ของปริมาตรน้ำใช้การ ซึ่งน้อยกว่าปี 2563 ในช่วงเวลาเดียวกัน ประมาณ 2,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะจัดสรรเป็นน้ำสำรองต้นฤดูฝนปี 2564 ช่วงเดือน พ.ค. – ก.ค. 2564 รวม 2,271 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 39 ของปริมาณน้ำต้นทุน แยกเป็น สำหรับอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ จำนวน 1,743 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 7 และฝนทิ้งช่วง รวม 528 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 ขณะที่การคาดการณ์พื้นที่ปลูกพืชฤดูฝนปี 2564 ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 73 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปี 59.6 ล้านไร่ พืชไร่ 12.3 ล้านไร่ พืชผัก 1.1 ล้านไร่ ดังนั้น จากข้อมูลการคาดการณ์ปริมาณฝนในช่วงปลายฤดูแล้งต่อเนื่องต้นฤดูฝน ที่คาดว่าจะมีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยจะเป็นผลดีในการเพิ่มความชุ่มชื้นในดินหลังจากแห้งแล้งต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน รวมถึงการเตรียมแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรเป็นไปตามฤดูกาล ขณะเดียวกัน ยังจะช่วยเก็บกักน้ำต้นทุนไว้ในอ่างฯ ที่มีน้ำใช้การน้อย รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติ แม่น้ำ ลำคลอง เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงที่คาดว่าจะเกิดฝนทิ้งช่วงในเดือน พ.ค. – ก.ค.64 โดยใช้ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาซ้อนทับข้อมูลกัน แล้วกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งในระดับปานกลาง-ระดับมาก ร่วมกับฝนคาดการณ์ในระบบ One Map และมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบกำหนดแผนปฎิบัติป้องกันผลกระทบให้กับประชาชนต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการ แบ่งเป็น ระยะเร่งด่วน ปี 2564 ระยะกลาง ปี 2565-2570 และระยะยาว ตั้งแต่ปี 2571 เป็นต้นไป ตามกรอบการดำเนินงานแผนปฎิบัติการฯ รวมทั้งสิ้น 84 โครงการ โดยมี 5 เป้าหมายหลัก คือ 1.การเสริมสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำของประชาชน 2.การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณคลองแสนแสบ 3.การแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ 4.การป้องกันปราบปราม การบุกรุกทำลายทรัพยากรในคลองแสนแสบ และ 5.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในคลองแสนแสบ รวมถึงยังเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม น้ำท่วมและน้ำแล้งในลุ่มน้ำติดอ่าวไทย เพื่อศึกษา วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาการรุกตัวน้ำเค็ม น้ำท่วม น้ำแล้งพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งครอบคลุม 4 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำบางปะกงตอนล่าง และลุ่มน้ำแม่กลองตอนล่าง และทบทวนแนวทางการแก้ไขในปัจจุบัน มาตรการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน และระยะยาว
………………………………………………
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
25 มีนาคม 2564