จับตาสถานการณ์ยางแนวโน้มราคาพุ่ง เอลนีโญทำให้ผลผลิตลดลง/อุตสาหกรรมรถยนต์ฟื้นตัวความต้องการเพิ่มขึ้น

จับตาสถานการณ์ราคายาง กยท.มั่นใจแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ปัจจัยหนุนจากอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มียอดการผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตลดลงจากการระบาดของโรคใบร่วง และปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดในปีนี้ ฝนตกน้อย อากาศร้อน จะทำให้หลายพื้นที่ไม่สามารถกรีดยางได้


นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ยางในไตรมาส 2/2566 ว่า ราคายังคงเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆแต่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งใช้ยางเป็นวัตถุดิบมากที่สุด โดยยอดขายรถยนต์ (Light Vehicle ) ทั่วโลกในเดือนมีนาคม2566 สูงกว่าเดือนมีนาคม2565 ถึงร้อยละ 11.6 เนื่องจากการผ่อนคลายของห่วงโซ่การผลิต และการเร่งซื้อรถในจีนก่อน สิ้นสุดระยะโครงการช่วยเหลือด้านภาษี ขณะเดียวกันยอดการประกอบรถยนต์ของโลกในช่วงที่ผ่านมายังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงร้อยละ 7.1 อีกด้วย โดยอินเดียเพิ่มสูงสุดร้อยละ 23.1 ประเทศ เยอรมนีเพิ่มร้อยละ 10.8 และสหรัฐอเมริกาเพิ่มร้อยละ9.7 ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกต่อราคายาง


สำหรับความต้องการยางธรรมชาติในปี 2566 สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ ( ANRPC) ได้คาดการณ์ล่าสุดว่าทั่วโลกมีความต้องการประมาณ14.912 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิม 173,000 ตัน นอกจากนี้ LMC Rubber Bulletin ฉบับเดือนเมษายน 2566คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ยางจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น แต่การผลิตทั่วโลกยังเติบโตน้อย เช่นเดียวกับสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์แห่งสหรัฐอเมริกา (USTMA) ได้คาดการณ์ยอดจัดส่งยางรถยนต์ของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นในปี 2566 ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลดีต่อราคายางในอนาคต
ส่วนผลผลิตยางพาราโลกในปี 2565 อยู่ที่ 14.53 ล้านตัน และในไตรมาสแรกของปี 2566 ผลผลิตยางพาราโลกอยู่ที่ 3.312 ล้านตัน ส่วนคาดการณ์ผลผลิตทั้งปีมีแนวโน้มลดลงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องการระบาดของโรคใบร่วง โดยเฉพาะประเทศอินโดเนียเเซียมีสวนยางได้ผลกระทบจากการระบาดของโลกดังกล่าวกว่า 2 ล้านไร่ รวมทั้งประเทศไทย และมาเลเซียก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคใบร่วงเช่นกัน ในขณะที่ประเทศจีนมณฑลยูนานที่การปลูกยางก็ได้รับผลกระทบจากโรคราแป้ง นอกจากนี้ปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะเกิดในปีนี้ จะส่งผลให้ปริมาณฝนน้อยกว่าทุกปี อากาศแล้งและร้อน จะทำให้หลายพื้นที่ไม่สามารถเปิดกรีดยางได้ ผลผลิตก็จะออกสู่ตลาดน้อยลงอย่างแน่นอน
“หากพิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานที่เกื้อหนุนดังกล่าวแล้ว แนวโน้มราคายางตั้งแต่กลางปีนี้ เป็นต้นไปน่าจะค่อยๆปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนสาเหตุสำคัญราคายางในปัจจุบันราคายังคงทรงตัวโดย ยางแผ่นมควัน ชั้น 3 ราคาอยู่ในระดับ 50 บาทต่อกิโลกรัม และยางแผ่นดิบ ราคา 48 บาทต่อกิโลกรัม และน้ำยางสดราคา 43 บาทต่อกิโลกรัมนั้น ส่วนหนึ่งมาจากสต๊อกยางเก่าของประเทศผู้นำเข้าต่างๆยังคงไม่มีอยู่ ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตามจากการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ ยอดขายรถยนต์ และการผลิตล้อยางทำให้ความต้องการใช้ยางยางโลกที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตยางทั่วโลกยังคงเติบโตน้อย และมีปริมาณลดลง จะส่งผลดีต่อยางในระยะยาว ราคาน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน” ผู้ว่าการ กยท.กล่าวยืนยัน
ด้านนางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กยท. กล่าวว่า สถานการณ์ยางในไตรมาสแรกของปี 2566 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ผลผลิตยางโลกอยู่ที่ 3.312 ล้านตัน น้อยกว่าความต้องใช้ยางพาราโลก ซึ่งสูงถึง 3.73 ล้านตัน ดังนั้นโลกยังคงมีความต้องการใช้ยางที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่มีอัตราการใช้ยางเติบโตสูงสุด เนื่องจากการลงทุนมีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยางต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการส่งออก คาดว่าปีนี้ไทยจะส่งออกยางอยู่ที่ 4.275 ล้านตันโดยมกราคมและกุมภาพันธ์ 2566 ไทยส่งออกยางเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้นำเข้ายางจากไทยสูงสุดยังคงเป็นจีน คิดเป็น55%ตามด้วยมาเลเซีย13%และสหรัฐอเมริกา4%