sacit เปิดตัว “กางเกงมวยผ้าไหม” ปลุก Soft Power หัตถกรรมไทย

“แต่ละปีสินค้าและบริการ Soft Power สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ มีมูลค่าทางการค้าจำนวนมหาศาลถึง 1.45 ล้านล้านบาท”

อีกหนึ่งคำยืนยันจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงกระแสความนิยมสินค้าและบริการของไทยที่เกิดขึ้นจากเอกลักษณ์ความเป็นไทย ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น กลายเป็น “Soft Power” สำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
จากความนิยมที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ประกาศนโยบายในปี 2566 ต้อนรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ยกระดับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนโยบาย “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” อาศัยจุดแข็งของประเทศให้เป็น Soft Power พร้อมมอบหมายภารกิจสำคัญให้ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ “sacit” ที่มีบทบาทด้านการสืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เกิดการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เป็นหัวหอกปลุกกระแสความนิยมสินค้างานฝีมือเหล่านี้ ให้สามารถเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวัน สร้างรายได้กลับสู่ผู้ผลิตงานหัตถศิลป์ไทยอย่างยั่งยืน

นายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ฉายภาพถึงเป้าหมายของการปลุกกระแส Soft Power หัตถกรรมไทยว่า sacit ได้ขานรับแนวนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ และขับเคลื่อนภารกิจในการผลักดันสินค้าหัตถกรรมไทยให้เป็น Soft Power สร้างการรับรู้ กระตุ้นกระแสนิยมในสินค้าเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากล ผ่านการนำเสนอจุดแข็งต่างๆ ของประเทศไทย อาทิ ความโดดเด่นทางศิลปวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของวิถีชีวิต

อย่างไรก็ดี เพื่อตอบรับต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมการรับรู้ข่าวสารผ่านสังคมออนไลน์ กิจกรรมความบันเทิง บุคคลที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพล (Key Opinion Leader) sacit จึงได้วางกลยุทธ์ในการสื่อสาร Soft Power หัตถกรรมไทยด้วยการนำเสนอสิ่งต่างๆ เหล่านี้ผ่านช่องทางออนไลน์ การสร้างคอนเทนต์ และการนำเสนอด้วยบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน

ล่าสุด sacit ได้นำแนวคิด Soft Power มาจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ภายใต้ชื่อ “Andaman Craft Festival” เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ลานมังกร จังหวัดภูเก็ต ภายใต้แนวคิด “Hand on the smile with Thai Craft” มอบรอยยิ้มและความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือนด้วยงานศิลปหัตถกรรมไทยและความเป็นมิตรของคนไทย ด้วยว่าหัตถศิลป์ไทยมีความสวยงาม ทรงคุณค่าในภูมิปัญญาที่สั่งสมมายาวนาน
สำหรับไฮไลต์ภายในงาน ได้หยิบยกหัตถศิลป์ไทยที่หาดูได้ยากมาจัดแสดงสู่สายตาชาวโลก เปิดตัว “กางเกงมวยผ้าไหมไทย” จากฝีมือของครูปิโยรส บัวเหลือง ครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย ประจำปี 2565 กางเกงมวยที่งดงามวิจิตรบรรจงและมีตัวเดียวในโลก ผลิตจากผ้าไหมสีดำนิลของ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผสมผสานการปักสะดึงกรึงไหมที่มีมาแต่โบราณ ในเครื่องแต่งกายนาฏศิลป์ชั้นสูง

โดยความพิเศษของกางเกงมวยผ้าไหมสีดำนิล ไม่เพียงมีตัวเดียวในโลก แต่ยังนับเป็นกางเกงมวยที่สืบสานประเพณีโบราณสืบทอดส่งต่อกันมา เดิมทีเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้งานในราชสำนัก หรือผู้มีบรรดาศักดิ์ ยังไม่มีการจดบันทึกขั้นตอนหรือกระบวนการ มีเพียงการสาธิตและปฏิบัติให้ชมเพื่อเรียนรู้สืบต่อกันมา จึงนับเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นตามแบบโบราณราชประเพณี ดัดแปลงให้เข้ากับสินค้าที่มีเอกลักษณ์ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวัน

สำหรับการถ่ายทอด Soft Power อันทรงคุณค่านี้ sacit ได้นำเสนอผ่านนักชกแชมป์โลก ขวัญใจชาวไทยและต่างชาติที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก “บัวขาว บัญชาเมฆ” สร้างความฮือฮาและเป็นที่กล่าวขวัญถึงของผู้มาร่วมงาน เพราะนอกจากลีลาแม่ไม้มวยไทยที่เป็นเอกลักษณ์ความเป็นไทยแล้ว กางเกงมวยผ้าไหมไทยยังงดงามและวิจิตรอย่างมาก นับเป็นการนำเสนอหัตถกรรมไทยทรงคุณค่า ที่ให้ความรู้สึกหรูหราสง่างาม

ขณะเดียวกัน ภายในงานครั้งนี้ยังมีการเปิดตัวแฟชั่นโชว์ชุดฟินาเล่ของ “แอนนา เสืองามเอี่ยม” Miss Universe Thailand 2022 ที่ขึ้นสวมมงกุฎสะบัดผ้าไทยเดินอวดโฉมเรียกเสียงปรบมืออย่างกึกก้อง อีกทั้งยังมีขบวนพาเหรดสร้างสีสันสุดตระการตา นำโดย “ไฮดี้ อมันดา” Miss Grand ภูเก็ต พร้อมด้วยนักเรียน นักศึกษาลูกหลานชาวภูเก็ตในชุดพื้นถิ่นน่ารักสดใส ถือเป็นอีกหนึ่งโชว์ที่สามารถถ่ายทอดหัตกรรมไทยคู่ไปกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของท้องถิ่นได้อย่างลงตัว

นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมที่สะท้อนความเป็นหัตถกรรมไทยอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการละเล่นแบบไทยทั้งมวยไทยไชยา และการเดินกะลา เรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวได้อย่างล้นหลาม นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการจัดงานที่สามารถเชื่อมโยงทั้งในด้านการท่องเที่ยว และการสร้างให้เกิดวัฒนธรรมศิลปหัตถกรรมไทยในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ถ่ายทอดผ่านกิจกรรมความบันเทิง บุคคลที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพล

ทั้งนี้ sacit คาดหวังว่าการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ จะช่วยสร้างสีสัน ส่งเสริมบรรยากาศของการท่องเที่ยวสู่การสร้างการรับรู้ถึงสินค้าหัตถกรรมไทยเป็น Soft Power และไม่เพียงกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศผ่านนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่จะก่อให้เกิดเป็นปัจจัยบวกด้านการส่งออกสินค้าหัตถกรรมไทย สนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เติบโตอย่างยั่งยืน