สอวช. ร่วมแสดงเจตนารมณ์พัฒนากำลังคนบนแพลตฟอร์มอัจฉริยะร่วมกับ 52 หน่วยงาน

“ดร.กิติพงค์” ตั้งเป้าผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงให้ได้ 200,000 คน ภายใน 5 ปี
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดย ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เข้าร่วมงาน “คุณวุฒิวิชาชีพ คุณวุฒิของคนทำมาหากิน” จัดโดย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และร่วมแสดงเจตนารมณ์ร่วมกับ 52 หน่วยงาน เพื่อพัฒนาและเชื่อมโยงข้อมูลด้านกำลังคนบนแพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคน และการพัฒนาสมรรถนะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (E-Workforce Ecosystem Platform) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม โดยสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดนโยบาย ทิศทางการพัฒนาแรงงานของประเทศ และบริหารจัดการห่วงโซ่อุปสงค์ และอุปทาน ให้ไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งใช้ในการพัฒนาสมรรถนะกำลังของประเทศด้วย


ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันการศึกษา การจ้างงาน และการประกอบอาชีพ เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ดังนั้นจึงต้องมีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้นักศึกษาหรือคนทำงาน มีโอกาสและความเท่าเทียมกันในการพัฒนาทางอาชีพ ในส่วนของ สอวช. เรามีแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ ทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมการปรับทักษะ ยกระดับทักษะ (Reskill Upskill) และจับคู่กำลังคนไปสู่การทำงานและการประกอบอาชีพ คือ แพลตฟอร์ม STEMPlus (https://stemplus.or.th/) ที่มีบริการสำคัญให้ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการใน อุตสาหกรรมเป้าหมาย และมีการจ้างงานในตำแหน่งที่สอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้ทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ (สะเต็ม) ที่ได้จ้างพนักงานใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นมา สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือนพนักงานไปขอยกเว้นภาษีเงินได้จากกรมสรรพากร ได้ 150% นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ส่งลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่ได้รับการรับรอง ตามมาตรการ Thailand Plus Package ยังได้รับสิทธิประโยชน์ในการนำค่าใช้จ่ายในการอบรมไปหักภาษีได้ 250%
ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า มีหลักสูตรที่ผ่านการอนุมัติตามมาตรการ Thailand Plus Package ไปแล้วกว่า 400 หลักสูตร มีผู้ผ่านการอบรมมากกว่า 15,000 คน และในจำนวนนั้น มีคนที่สามารถจับคู่ให้เข้าทำงานได้กว่า 700 คน ทำให้ทุกคนที่เข้ามาพัฒนาศักยภาพ มีโอกาสเข้าไปสู่อาชีพได้อย่างทั่วถึง ซึ่งอาชีพที่สำคัญติดอันดับ 1 ใน 10 เป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะการทำงานและความรู้ค่อนข้างสูง เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ ที่จะสามารถเข้าไปทำงานในองค์กรใหญ่ หรือบางคนมีความสามารถพัฒนาเป็นแพลตฟอร์ม และผันตัวเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเกษตรอัจฉริยะ ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การทำเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งมีการอบรมเพื่อให้นำไปประกอบอาชีพอิสระได้ด้วย โดยมีเป้าหมายจะผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงให้ได้ 200,000 คน ภายใน 5 ปี