คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชา เน้นส่งเสริมกินใช้ให้ปลอดภัย เร่งสร้างความเข้าใจ ก่อนเสียโอกาสในการใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ตรวจราชการ รองอธิบดีกรมต่างๆ ผู้อำนวยการกองที่เกี่ยวข้อง โดยก่อนเริ่มประชุมประธานได้กล่าวถึงเหตุผลของการปลดกัญชาออกจากรายการยาเสพติด ว่าเป็นการคืนกัญชาให้ประชาชน ได้นำไปใช้ในสร้างสุขภาพ เศรษฐกิจ เพราะกัญชาเป็นพืชท้องถิ่นของไทย คนไทยเรามีประสบการณ์การใช้กัญชามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนเมื่อกัญชาถูกบรรจุในรายการยาเสพติดให้โทษก็ทำให้การใช้ประโยชน์หยุดชะงัก และกลับมาพัฒนาอีกครั้งในปี 2562 ที่พรบ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2562) อนุญาตให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ แต่การพัฒนากัญชาในประเทศเราก็ยังช้ากว่าต่างประเทศ ทั้งๆที่เป็นพืชท้องถิ่น เพราะมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย จึงเป็นเหตุผลสำคัญของการปลดพืชกัญชาคืนให้ประชาชนใช้ประโยชน์
“การใช้ในสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้เรามั่นใจว่า กัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์จริง แต่ก็เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรอื่นๆ ที่ก็มีข้อจำกัดในการใช้ ซึ่งเราต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม ในขณะเดียวกันทางกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับความปลอดภัยของภาคประชาชน ตามที่องค์กรวิชาชีพและภาคประชาสังคมห่วงใย วันนี้กรมการแพทย์ก็มานำเสนอ ให้เห็นสถิติว่า ผู้ที่ติดกัญชาตลอด 5 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มคงที่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า การปลดพืชกัญชาให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาการเสพติดมากขึ้น แต่เราก็ยังคงเฝ้าติดตามความปลอดภัย ผ่านการบูรณาการข้อมูลจากกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และ จะนำมารายงานในคณะกรรมการทุกเดือน เพื่อให้สามารถที่จัดการได้ทันเวลา หากพบปัญหา” นพ.ประพนธ์กล่าว

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอข้อมูลจากกรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมสุขภาพจิต คณะกรรมการอาหารและยา กองบริหารการสาธารณสุขและสถาบันกัญชาทางการแพทย์ ถึงแนวทางการทำงานหลังปลดพืชกัญชาจากรายการยาเสพติด ซึ่งมีการดำเนินงานที่ครอบคลุมทั้งต้นทาง กลางทางและปลายทาง โดยในที่ประชุมประธานได้เน้นย้ำว่า การทำงานต้องเน้นการส่งเสริม บนพื้นฐานของความปลอดภัย ไม่ทำให้เสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ โดยขอให้แต่ละหน่วยงานลงไปทำงานกับพื้นที่ กับประชาชนและกลับมาแลกเปลี่ยนปัญหา อุปสรรคในการประชุมครั้งต่อไป